ประกอบการงานที่สุจริต

งานสุจริต หมายถึง งานที่ไม่มีตำหนิ ดีพร้อม ยุติธรรม ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนใคร แต่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

ความสามารถในการทำงานของคน มีอยู่ ๒ ระดับ คือ “ขั้นทำได้” กับ “ขั้นทำดี”

“ทำได้” หมายถึง การทำงานสักแต่ให้เสร็จๆไป จะเกิดประโยชน์หรือไม่ เพียงใด ไม่ต้องคำนึง เป็นลักษณะของคนไม่รับผิดชอบงาน

“ทำดี” หมายถึง การเป็นผู้คิดให้รอบคอบ ถึงผลได้

สิ่งใดที่ไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นเพียงพอ ก็ไม่ทำสิ่งนั้น พูดสั้นๆก็คือ ถ้าทำต้องให้ดี ถ้าไม่ดีต้องไม่ทำ

ลักษณะของงานสุจริต

๑ ไม่ผิดกฎหมาย กฎหมายเป็นระเบียบข้อบังคับซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตาม การทำผิดกฏหมายทุกอย่างจัดเป็นงานมีโทษทั้งสิ้น แม้บางอย่างจะไม่ผิดศีลธรรมข้อใดเลยก็ตาม

๒ ไม่ผิดประเพณี ประเพณีหมายถึง จารีต ขนบธรรมเนียมของมหาชนในถิ่นหนึ่งๆ หรือสังคมหนึ่ง

๓ ไม่ผิดศีล ศีลเป็นขั้นพื้นฐานของการทำดีทุกอย่าง แม้ในไตรสิกขาซึ่งถือเป็นหัวใจของพุทธศาสนาก็บ่งไว้ว่า

ศีล เป็นพื้นฐานของสมาธิ

สมาธิ เป็นพื้นฐานของปัญญา

ปัญญา เป็นเครื่องบรรลุนิพพาน

๔ ไม่ผิดธรรม ธรรมคือ ความถูก ความดี ในการปฏิบัติงานทุกครั้ง ต้องคำนึงถึงข้อธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ให้ถี่ถ้วน เพราะงานบางอย่างแม้จะไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณี ไม่ผิดศีล แต่อาจผิดหลักธรรมได้

ดังนั้นเมื่อเราทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานทางกาย ทางวาจา หรือทางใจก็ตาม เราต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ประเพณี ศีล และ ธรรม จึงจะได้ชื่อว่า เป็นคนทำงานสุจริต

อานิสงส์ของการทำงานสุจริต

คนทำงานทุจริตนั้น ได้กับเสียเป็นเงาตามตัว ยิ่งได้งานมากก็ทุกข์ใจมาก เข้าทำนอง “อิ่มท้องแต่พร่องทางใจ” ยิ่งรวยได้ทรัพย์มากเท่าไรโอกาสที่จะเสียคนก็มากเท่านั้น ยิ่งทำก็ยิ่งทุกข์ คุณความดีในตัวลดลงทุกที ส่วนคนที่ทำงานไม่มีโทษนั้นจะก้าวหน้าไปสู่ความสุขแท้และความเจริญแท้ ถึงแม้จะไม่รวยทรัพย์แต่ก็รวยความดี

คนทำงานสุจริตนั้นจะหลับเป็นสุข จะตื่นก็เป็นสุข ไม่อายใคร ไม่ต้องหวาดระแวงใคร เพราะงานที่ทำเป็นประโยชน์แก่โลกล้วนๆ ชื่อว่า ได้ทดแทนบุญคุณของโลกที่อาศัยเกิดมา เมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะได้สันติสุข เป็นเรื่องตอบแทนไปชั่วกาลนาน

ใส่ความเห็น